หน้าหลัก    เกี่ยวกับเรา   การบริการทางวิชาชีพด้านกฎหมาย   การบริการทางบัญชี   บริการรับแปลเอกสาร   บทความ   เว็บบอร์ด   ติดต่อเรา   คุยกับกรรมการผู้จัดการ 


แพ่งและพาณิชย์ทั่วไป

ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์

การค้าระหว่างประเทศ

กฎหมายปกครอง

แรงงาน

ทรัพย์สินทางปัญญา

การเงินธนาคาร ประกันภัย...

ภาษีอากร

คดีผู้บริโภค

กฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

กฎหมายอาญาและกฎหมายเกี่ยวกับนักการเมือง

 
เปิดเว็บไซต์ 18/02/2009
ปรับปรุง 04/03/2024
สถิติผู้เข้าชม 1,210,829
Page Views 1,510,064
 

จดหมายข่าว

กรอก Email เพื่อรับข่าวสาร
 

บทความ

กฎหมายเกี่ยวกับหุ้นส่วนและบริษัท

คดีผู้บริโภค

กฎหมายอาญา

กฎหมายแรงงาน

 

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน

          หลังจากห่างหายกันไปเนิ่นนานนะครับ เหตุก็เนื่องจากทนายความหลายๆท่านก็ติดภารกิจในการการทำงาน แต่ไม่เป็นไรครับ ฉบับนี้ก็จะเขียนเอาใจเพื่อให้หายคิดถึงกันนะครับ หลังจากที่ผมได้เคยเขียนบทความเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าชดเชย และการคำนวณค่าชดเชยที่จะได้รับ ปรากฏว่ามีคุณผู้อ่านสนใจและเขียนคำถามมามากมายสอบถามว่า หากคุณผู้อ่านถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินเท่าไหร่อะไรประมาณนั้น ซึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่จะได้รับเงินค่าชดเชยแล้วนำมาคำนวณนั้นต้องฟังให้ได้ ว่านายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้างลูกจ้าง จึงจะมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยนะครับ และเมื่อได้รับเงินค่าชดเชยมาแล้ว ลูกจ้างจะเอาไปใช้อะไรอันนี้ผมไม่ทราบนะครับ 

ฉบับนี้ผมก็จะขอเขียนเรื่องราวหน้าที่ของฝ่ายนายจ้าง ตามกฎหมายแรงงานให้ครบถ้วนก่อนนะครับ

1.ข้อบังคับเกี่ยวกับ การทำงาน

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

           มาตรา 108–111 คือ เอกสารที่นายจ้างแต่ละสถานประกอบกิจการ จักต้องจัดให้มีขึ้นเพื่อกำหนดนโยบาย สิทธิ หน้าที่ และแนวทางปฏิบัติต่อกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจึงเปรียบเสมือน “กฎหมายภายในองค์การ” ที่ใช้บังคับระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งหากได้กำหนดไว้อย่างถูกต้องและครบถ้วน ก็จะทำให้การบริหารงานบุคคลของนายจ้างเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ

           การออก “ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน” เป็นหน้าที่ของนายจ้างซึ่งมีลูกจ้างตั้งแต่  10 คนขึ้นไปจักต้องจัดให้มีขึ้น โดยนายจ้าง

  1. ต้องทำเป็นภาษาไทย
  2. ต้องมีรายละเอียด เกี่ยวกับรายการให้ครบถ้วน 8 ข้อตามที่กฎหมายกำหนด
  3. ต้องประกาศใช้ข้อ บังคับเกี่ยวกับการทำงานภายใน 15 วันนับแต่วันที่นายจ้างมีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป
  4. ต้องจัดเก็บสำเนาข้อบังคับไว้ ณ สถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของนายจ้างตลอดเวลา
  5. ต้องส่งสำเนาข้อบังคับให้แก่อธิบดีกรม สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายใน 7 วันนับแต่วันประกาศใช้บังคับ
  6. ต้องแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ขัดต่อ กฎหมายตามคำสั่งของอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานหรือ ผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด
  7. ต้องเผยแพร่และปิดประกาศข้อบังคับเกี่ยวกับการ ทำงานโดยเปิดเผย ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้างเพื่อให้ลูกจ้าง ได้ทราบและดูได้โดยสะดวก
  8. ต้องประกาศข้อบังคับฉบับที่มีการแก้ไขเพิ่ม เติมภายใน 7 วันนับแต่วันที่ประกาศใช้ข้อบังคับที่ แก้ไขเพิ่มเติม และต้องปฏิบัติตามข้อ 4 ถึง ข้อ 7 ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อบังคับฉบับแก้ไขเพิ่มเติมด้วย

ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานต้องมีรายการ 8 ข้อตามกฎหมายกำหนด คือ

  1. วันทำงาน เวลาทำงานปกติและเวลาพัก
  2. วันหยุดและหลักเกณฑ์ การหยุด
  3. หลักเกณฑ์การทำงาน ล่วงเวลาและการทำงานในวันหยุด
  4. วันและสถานที่จ่าย ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด
  5. วันลาและหลักเกณฑ์ การลา
  6. วินัยและโทษทางวินัย
  7. การ ร้องทุกข์ (ซึ่งต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับขอบเขตและความหมายของข้อร้องทุกข์ วิธีการและขั้นตอนการร้องทุกข์ การสอบสวนและพิจารณาข้อร้องทุกข์ กระบวนการยุติข้อร้องทุกข์ และความคุ้มครองผู้ร้องทุกข์และผู้เกี่ยวข้อง)
  8. การเลิกจ้าง ค่าชดเชย และค่าชดเชยพิเศษ

        รายการแต่ละข้อข้างต้น จักต้องมีรายละเอียดเพียงพอที่จะให้ลูกจ้างและบุคลากรทุกฝ่ายของนายจ้างเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามได้ถูกต้อง ส่วนรายละเอียดแต่ละข้อนั้นนายจ้างแต่ละรายมีอำนาจกำหนดได้ตามที่เห็นว่า เหมาะสมแก่ประเภทกิจการที่นายจ้างดำเนินการอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้กิจการของนายจ้างบรรลุวัตถุประสงค์และสามารถดำเนินไปได้โดยราบรื่นปราศจากอันตรายใด ๆ ในการทำงานของลูกจ้าง สามารถป้องกันและยุติข้อขัดแย้งให้ระงับลงได้โดยรวดเร็ว ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของแต่ละสถานประกอบกิจการจึงแตกต่างกันไป ตามนโยบายและประเภทของกิจการที่กำหนดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานนั้น

2. ทะเบียนลูกจ้าง

         สำหรับทะเบียนลูกจ้าง กฎหมายกำหนดไว้ว่านายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ต้องจัดทำทะเบียนลูกจ้างเป็นภาษาไทยเก็บไว้ในสถานประกอบกิจการ หรือสำนักงานหรือสำนักงานของนายจ้างพร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจได้ ในเวลาทำการ การจัดทำทะเบียนลูกจ้างจะต้องมีรายการตามที่กฎหมายกำหนด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 113 คือ

  1. ชื่อตัวและชื่อสกุล
  2. เพศ
  3. สัญชาติ
  4. วันเดือนปีเกิด หรืออายุ
  5. ที่อยู่ปัจจุบัน
  6. วันที่เริ่มจ้าง
  7. ตำแหน่งหรืองานใน หน้าที่
  8. อัตราค่าจ้างและ ประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง
  9. วันสิ้นสุดการจ้าง

         เมื่อมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนลูกจ้าง ให้นายจ้างแก้ไขเพิ่มเติมทะเบียนลูกจ้างให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น หรือภายใน 15 วันนับแต่วันที่ลูกจ้างได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงให้นายจ้างทราบ

3. เอกสารเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างฯ

       นายจ้าง ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป มีหน้าที่ต้องจัดให้มีเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด โดยอย่างน้อยต้องมีรายการตามที่กฎหมายกำหนด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 114 คือ

  1. วันและเวลาทำงาน
  2. ผลงานที่ทำได้สำหรับ ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
  3. อัตราและจำนวนค่า จ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวัน หยุดที่ลูกจ้างแต่ละคนได้รับ

         เมื่อมีการจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในเอกสารไว้เป็นหลักฐาน และรายการเอกสารดังกล่าวจะอยู่ในฉบับเดียวกันหรือจะแยกเป็นหลายฉบับก็ได้

        ในกรณีที่นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง โดยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินอื่น ให้ถือว่าหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของลูกจ้างเป็นเอกสารเกี่ยวกับ การจ่ายเงินดังกล่าว

         สำหรับฉบับนี้ ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยข้อมูลเพื่อให้หายคิดถึงกันนะครับ  แต่สำหรับฉบับหน้าทั้งฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายนายจ้างก็อย่าพลาดอีกเช่นเคย  เพราะกระผมจะขออธิบายข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

        หากคุณผู้อ่านสนใจข้อมูลกฎหมายแรงงานที่แก้ไขใหม่ หรือมีข้อกฎหมายสอบถามเพิ่มเติม โปรดแจ้งอีเมลล์ไว้ที่ boonchuay@npolaw.co.th สวัสดีครับ

Tags :